ลูกน้อยในขวบปีแรกจะมีลักษณะนิสัยการนอนที่แตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วในช่วง 1-2 เดือนแรก ทารกมักจะนอนมากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ คือ นอนวันละ 16-18 ชั่วโมง แต่เป็นการหลับช่วงสั้น ๆ สลับกับการตื่นไปตลอดทั้งวันและทั้งคืน โดยเฉพาะในสัปดาห์แรก ๆ แต่เมื่อผ่านไป 1 เดือน ลูกจะนอนนานขึ้นในตอนกลางคืน และนอนน้อยลงในตอนกลางวัน ในช่วงอายุ 3-12 เดือน จะนอนวันละ 14-16 ชั่วโมง นอนครั้งละนาน ๆ และลูกจะรู้จักนอนหลับยาวตลอดคืนเมื่อราวอายุ 10-12 เดือน ในช่วงเดือนแรก ลูกจะหลับสบายขึ้นและนอนได้นาน ๆ หากคุณแม่ห่อตัวลูก หรือวางผ้าไว้ที่หน้าอก หรือหลังของลูก ลูกจะรู้สึกปลอดภัยและอบอุ่น เมื่อลูกอาบน้ำแล้วได้ทานนมจนอิ่ม มักจะหลับได้โดยง่าย แต่บางครั้งลูกยังต้องการให้คุณแม่หรือคุณพ่อมาช่วยกล่อมให้รู้สึกผ่อนคลาย
ควรกล่อมลูกน้อยด้วยท่าทีอ่อนโยน นุ่มนวล อาจลูบท้อง ลูบหลัง ลูบเบา ๆ โยกตัวลูกไปมาเบา ๆ ในอ้อมแขน หรืออาจร้องเพลงกล่อมลูก เป็นต้น เด็กเล็ก ๆ บางคนอาจจะมีลักษณะของการนอนที่ไม่เหมือนใคร เช่น นอนน้อยตื่นบ่อย ซึ่งถ้าลูกยังร่าเริงน้ำหนักตัวดี ทานนมได้เป็นปกติก็อย่ากังวล ลูกจะค่อย ๆ ปรับตัวได้เองในที่สุด ท่านอนของลูกควรจัดให้นอนตะแคง ไม่ควรให้เด็กนอนคว่ำ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะ Sudden infant death Syndrome หรือ ภาวะไหลตายในเด็ก ซึ่งอาจเกิดในช่วงอายุ 1 เดือน ถึง 1 ปีได้
ข้อควรระวังในการนอนคว่ำ
- ที่นอนต้องไม่นิ่มหรือยวบลง เพราะจะอุดกั้นทางเดินหายใจของเด็กได้
- ควรมีผู้ดูแลเด็กในช่วงนอนคว่ำตลอดเวลา
ประโยชน์ของท่านอนตะแคง
- ช่วยทำให้อาหารและน้ำนมผ่านจากกระเพาะลงสู่ลำไส้เล็กได้เร็วขึ้น
- ใน กรณีที่เด็กแหวะนมหรืออาเจียน การนอนตะแคงจะเป็นท่าที่ปลอดภัยกว่า เพราะในท่าที่นอนหงาย เด็กอาจสำลักน้ำนมหรืออาหารเข้าทางเดินหายใจได้ง่าย ซึ่งเป็นอันตรายต่อเด็ก
- เด็กจะหลับได้นาน หากได้รับความอบอุ่นที่หน้าอกและจะทำให้ไม่ผวา
- ใน ด้านความสวยงาม เด็กที่นอนตะแคงจะมีศีรษะได้สัดส่วนงดงาม ไม่แบนเหมือนนอนหงาย แต่ถ้าเด็กนอนตะแคงต้องระวังอย่าให้นอนข้างเดียวตลอดเวลา มิฉะนั้นรูปศีรษะจะเบี้ยว ถ้าเด็กถนัดเพียงข้างเดียวไม่ยอมตะแคงอีกข้าง แม่อาจจะช่วยได้โดยการใช้หมอนข้างเล็กวางกำกับให้เด็กหันไปด้านที่ต้องการ ได้
หมายเหตุ
- เด็กที่มีปัญหาเรื่องการหายใจ ให้เด็กนอนหงายเพื่อจะได้สังเกตดูการหายใจของเด็กได้ด้วย
- ในเด็กชายที่ขลิบปลายอวัยวะเพศ 3-5 วัน ควรให้นอนหงายเพื่อป้องกันการกดทับแผลได้ทำให้แผลบวม ถลอก และเลือดออก
- ในเด็กเล็กไม่ควรใช้หมอนหนุนศีรษะ
อ้างอิง : www.taraddek.com, www.clinicdek.com