นักวิจัยจาก University of Michigan พบ ทารกที่เกิดกับมารดาที่อารมณ์แปรปรวน หรือ มีความเครียดสูง มักจะมีปัญหาในการนอน
การนอนของเด็กทารกโดยเฉพาะช่วงแรกเกิดถึง 6 เดือนนั้น ถือเป็นช่วงที่สำคัญและลำบากสำหรับคนเป็นแม่มากที่สุด เป็นช่วงที่ร่างกายของแม่ต้องการการพักฟื้น การพักผ่อนนอนหลับ ในขณะที่เจ้าตัวน้อยก็ตื่นเพื่อปลุกให้แม่ผู้เหนื่อยอ่อนมาป้อนน้ำ ป้อนนม
นักวิจัยเรียกภาวะการนอนหลับและตื่นอย่างเป็นเวลาของทารก ว่า Circadian rhythms ซึ่งจำเป็นต้องเริ่มฝึกกันตั้งแต่เล็กๆ
นักวิจัยพบว่า ทารกที่คลอดจากมารดาที่ตกอยู่ในภาวะตึงเครียด (เครียดจัด หรือ มีปัญหาอารมณ์แปรปรวน) ก่อนตั้งครรภ์ หรือ ในขณะที่ตั้งครรภ์นั้นมีโอกาสที่จะประสบปัญหาเกี่ยวกับ (รูปแบบ) การนอน โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต
ทารก ต้องการเวลานอนหลับพักผ่อน มากกว่าเด็กโต และผู้ใหญ่ แต่ห้วงเวลาการหลับและตื่นจะสั้น และมีหลายช่วง และตื่นเมื่อหิว ทารกแรกเกิดถึงอายุ 2 เดือน ต้องการเวลานอน 11-18 ชั่วโมง และระหว่าง 2 -10 เดือน ต้องการเวลานอน 11-15 ชั่วโมง ส่วนเด็กๆอายุ 1-3 ขวบนั้นต้องการเวลานอน 12-14 ชั่วโมง
ทารกที่นอนหลับสนิทตอนกลางคืน จะตื่นนานกว่าในตอนกลางวัน
ทีมงานพบว่า ทารกที่คลอดจากมารดาที่มีปัญหาความเครียด ทารกนั้นจะนอนในเวลากลางวันนานมาก และใช้เวลานานในตอนกลางคืนกว่าจะหลับได้ และมีอาการ หลับๆ ตื่นๆ ไปตลอดคืน ซึ่งส่งผลเสียต่อทั้งตัวทารกเองและคุณแม่ เราท่านรู้กันดีว่า คืนไหนที่ไม่ได้หลับเต็มที่ เมื่อตื่นเช้ามาก็จะมีอาการหงุดหงิด สมองไม่ปลอดโปร่ง พาลโมโห ฉุนเฉียว ซึ่งผลนั้นเกิดขึ้นทั้งต่อตัวคุณแม่เองและทารก ส่งผลให้มีอาการร้องไห้ กระจองอแงมากขึ้น นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อเนื่องให้กลายเป็นคนเจ้าอารมณ์ในอนาคตได้อีกด้วย
นาง Roseanne Armitage และคณะจะได้เสนอผลการศึกษาในงานประชุมของสมาคม European Sleep Research Society ในกรุงกลาสโก ประเทศสก็อตแลนด์
นาง Roseanne Armitage ยังได้แนะนำผู้ปกครองด้วยว่า แม้มารดาของเด็กจะไม่มีปัญหาเรื่องอารมณ์และความเครียดในช่วงก่อนและระยะมีครรภ์ ผู้ปกครองก็ไม่ควรละเลยที่สังเกตการนอนของทารกตั้งแต่แรกเกิด เพื่อเป็นการวางรากฐานสุขภาพ (การนอน) ตั้งแต่แรกเริ่มของชีวิต
ผู้ปกครอง ควรดูแลให้ทารกนอน และตื่น เป็นเวลา เพื่อให้ลูกน้อยได้นอนหลับสนิทตลอดคืน เช่นเดียวกับผู้เป็นแม่ที่จะได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
ช่วงเวลาหลังจากการให้กำเนิดทารก เป็นช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสำหรับคุณแม่ และอาจประสบปัญหาด้านอารมณ์ และความเครียดได้ เนื่องจากความเจ็บปวดหลังกาคลอด การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ร่างกาย และสถานภาพใหม่ ซึ่งทางการแพทย์เรียกความเครียดที่เกิดขึ้นหลังการคลอดบุตรว่า Postpartum depression ซึ่งการอดนอนและพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจทำให้อาการของโรคเครียดทวีความรุนแรงขึ้นได้ คนรอบข้างจึงต้องทำความเข้าใจ เอาใจใส่และยื่นมือช่วยเหลือ "คุณแม่มือใหม่" เป็นพิเศษ

ปัญหาในการนอนของลูก อาจทำให้อาการ Postpartum depression ของแม่เลวร้ายมากยิ่งขึ้น
อ้างอิง : Kara Gavin. "Mom's mood, baby's sleep: what's the connection?". 2 September 2008. EurekAlert. 3 September 2008.
http://www.eurekalert.org/pub_releases/2008-09/uomh-mmb090208.php